เชื่อว่าหลายคนได้ตั้งคำถามกับตัวเองกันอยู่บ่อย ๆ ว่า “เรียนวิชาคณิตศาสตร์ไปทำไม สามารถไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” เพราะในชีวิตประจำวันของเราต่างก็เจอเรื่องราวที่ต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ คณิตศาสตร์ ถือว่าเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่เราใช้บ่อยเป็นประจำจนบางทีเราเองก็ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการคิด เป็นการเปรียบเทียบด้วยตัวเลข เปรียบเสมือนกับเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตของบุคคลถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น ได้แก่ การบวก ลบ คูณ หาร และในความเชื่อที่ว่าคณิตศาสตร์เป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่มีรูปแบบและขั้นตอน ดังนี้ คือ
1. หาสิ่งที่ต้องการทราบ
2. วางแผนการแก้ปัญหา
3. ค้นหาคำตอบ
4. ตรวจสอบ
จากขั้นตอนทางคณิตศาสตร์นี้เป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบ เพื่อให้เกิดลำดับขั้นตอนในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนการแก้ปัญหาสิ่ง ๆ หนึ่งโดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เพื่อหาข้อค้นพบและสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีระบบ ระเบียบ ซึ่งเนื้อหารายวิชาคณิตศาสตร์ บางเนื้อหาอาจไม่ได้นำมาใช้เป็นรูปธรรม แต่จะมีบทบาทช่วยในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
การซื้อขายของ ถือว่าเป็นการใช้หลักคณิตศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่ การคำนวณในเรื่องของต้นทุน และการได้กำไร การกำหนดราคาเพื่อการตีค่าของราคาที่จะขายเพื่อให้ได้กำไร นอกจากนี้ยังมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งก็ไม่พ้นในเรื่องของการใช้หลักคณิตศาสตร์
การเงินการธนาคาร เป็นการออมทรัพย์เพื่อให้เกิดผลกำไร การคำนวณดอกเบี้ย การปันผล การแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อให้ได้ผลประโยชน์
การสร้างที่อยู่อาศัย เป็นการคำนวณอัตราส่วนของพื้นที่ในการปลูกสิ่งปลูกสร้าง เริ่มตั้งแต่การคำนวณหาพื้นที่ในการสร้างโดยการวัดที่พื้นที่ จากนั้นคำนวณโครางสร้างของสิ่งปลูกต่าง ๆ ได้แก่ ปูน หิน ทราย ไม้ กระเบื้องและอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของการสร้างบ้าน โดยการผสมปูน ต้องมีการคำนวณอัตราส่วนของส่วนผสมในการสร้างบ้าน
นอกจากนี้ คณิตศาสตร์ถือว่าเป็นวิชาทางด้านการคิดแล้ว ยังเป็นศาสตร์ที่ช่วยในการตัดสินใจ นั่นคือข้อมูลทางสถิติมีความสำคัญและจำเป็นต่อการบริหารงานและพัฒนาประเทศ เป็นเครื่องมือ สำหรับ ผู้บริหาร ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจในการจัดทำแผนงาน กำหนดนโยบายหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นประโยชน์ของข้อมูลสามารถจำแนกตามการใช้ที่สำคัญๆ ได้ดังนี้
– ข้อมูลสถิติที่ใช้ในการบริหาร เป็นข้อมูลสถิติที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ผลิตขึ้นมา เพื่อใช้ในการบริหารและควบคุมการดำเนินงานประจำในสายงานต่าง ๆ หรือตรวจสอบผลการบริหารงาน เช่น ข้อมูลสถิติจากระบบทะเบียนราษฎร สามารถนำไปใช้ในการกำหนดเขตการเลือกตั้ง การเกณฑ์ทหาร หรือการเข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ เป็นต้น
– ข้อมูลสถิติที่ใช้ในการพัฒนา ข้อมูลสถิติมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศ ประโยชน์ของข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนานั้น สามารถแยกพิจารณาได้ 3 กรณี คือ
1) การใช้ข้อมูลสถิติ สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัย ข้อมูลสถิติเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผน การกำหนดเป้าหมาย และทิศทางของการพัฒนา เช่น การกำหนด หรือ การวางนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาภาคบังคับ การวางนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน การวางนโยบายเกี่ยวกับ การค้าทั้งในประเทศและนอกประเทศ อัตราค่าจ้างแรงงาน การเก็บภาษีอากร เป็นต้น
2) การใช้ข้อมูลสถิติ สำหรับการติดตามความก้าวหน้าของแผนพัฒนา หรือ โครงการต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานราชการได้จัดทำโครงการพัฒนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อทำการตรวจสอบและติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าวว่า
3) การใช้ข้อมูลสถิติ สำหรับการประเมินผลแผนพัฒนาหรือโครงการพัฒนา เมื่อการดำเนินงานตามแผนงาน / โครงการพัฒนาได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จำเป็นต้องมีการประเมินผลหรือวัดผลการ พัฒนาว่าได้ผลตามวัตถุประสงค์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการพัฒนา
ตัวอย่างการใช้ข้อมูลสถิติสำหรับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญในภาครัฐ
• ด้านการศึกษาเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและการวางแผนพัฒนาการศึกษา ข้อมูลสำคัญที่ต้องการใช้ ได้แก่ ประชากรก่อนวัยเรียนและวัยเรียน บุคลากรทางการศึกษา ปริมาณการผลิตและพัฒนาครูในแต่ละสาขา จำนวนสถานศึกษา ค่าใช้จ่ายในแต่ละระดับการศึกษา เป็นต้น
• ด้านการเกษตรเพื่อใช้ในกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาทางการเกษตรของประเทศ ข้อมูล ที่ต้องการใช้ ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำการเกษตร เนื้อที่การเพาะปลูก ผลิตผลทางการเกษตร จำนวนปศุสัตว์ ราคาสินค้าเกษตรกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตร การประมง การป่าไม้ ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ และ การชลประทาน เป็นต้น
• ด้านอุตสาหกรรมเพื่อใช้จัดทำแผนงาน หรือกำหนดนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งเสริม – การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตทางอุตสาหกรรม ต้นทุนการผลิต จำนวน แรงงาน เป็นต้น
• ด้านรายได้ – รายจ่ายของครัวเรือน เพื่อใช้เป้นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ใช้วัดความเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจ การครองชีพและการกระจายรายได้ของประชากร ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญ ของผลการพัฒนาประเทศ ข้อมูลสถิติที่สำคัญ ได้แก่ รายได้รายจ่ายของครัวเรือน ภาวะหนี้สิน สภาพความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยของครัวเรือน เป็นต้น
• ด้านสาธารณสุข เพื่อใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาด้านสาธารณสุข การพัฒนางานวิชาการทางการแพทย์ / สาธารณสุข
• ด้านคมนาคมและขนส่ง เพื่อใช้ในการปรับปรุงบริการและพัฒนาทางการคมนาคมขนส่ง และการสื่อสารของประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่าง ๆ และกระจายความเจริญไป สู่ภูมิภาค ข้อมูลที่ใช้ ได้แก่ รายรับ – รายจ่ายของการประกอบการขนส่ง ปริมาณผู้ใช้บริการในแต่ละเส้นทาง ปริมาณการขนส่ง ทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ รายละเอียดเส้นทาง คมนาคม ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรความถี่วิทยุ จำนวนครัวเรือนที่มีเครื่องรับวิทยุ – โทรทัศน์ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ความสำคัญของคณิตศาสตร์นั้นมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันได้อย่างมากมาย จนไปถึงการตัดสินใจในเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีสถิติเป็นข้อมูลในการศึกษาในการวางแผน /พัฒนา และแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายของ การเงินการธนาคาร การคำนวณสิ่งปลูกสร้าง ด้านการพัฒนาประเทศ ซึ่งคณิตศาสตร์ถือว่าเป็นพื้นฐานในการคำนวณที่จะช่วยพัฒนาระบบทางด้านการคิดได้อย่างถี่ถ้วน คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ วางแผน ตัดสินใจในเหตุการณ์ได้
อ้างอิง
คณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก pirun.ku.ac.th/~b5510900202/คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันword.html
คณิตศาสตร์ในชีวิตประจําวัน Mathematics for Daily Life . สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก https://reg2.crru.ac.th/reg/files/20150929020102_3aa31caba936b876645ada5b607be6ff.pdf
ขอขอบคุณบทความจาก
คุณครูศิรินทิพย์ อุฤทธิ์