ถ้าหากเราจะกล่าวถึงกวีผู้มีชื่อเสียงแพร่หลายในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่มีใครไม่รู้จักพระสุนทรโวหารภู่ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ สุนทรภู่ ศรีกวีเอกแห่งแผ่นดินสยาม เป็นกวีเอกที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทยและเป็น ที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยผลงานที่รังสรรค์ขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์ เป็นผู้จรรโลงตัวอักษรร้อยรส เป็นความบันเทิงแห่งโลกวรรณกรรมอันเป็นเอกลักษณ์หาท่านใดเปรียบได้ยาก สุนทรภู่ นับเป็นมหากวีสามัญชนที่โดดเด่นในหมู่กวีประจำชาติ ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อพระวงศ์ทั้งสิ้น
ผลงานของสุนทรภู่ มีความโดดเด่นทั้งในด้านเนื้อหาและกลวิธีการประพันธ์ โดยจะเป็นวรรณคดีประเภทนิราศ นิทาน สุภาษิต บทละคร เสภา บทเห่กล่อม รวมทั้งหมด 23 เรื่อง สุนทรภู่ เป็นกวีไม่กี่คนในสมัยต้น กรุงรัตนโกสินทร์ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและพบเห็นคนชายขอบเหล่านี้และมีส่วนในการเผยแพร่การมองคนชายขอบผ่าน ‘อัตลักษณ์’ จากสายตา ‘คนส่วนใหญ่’ ในบางกอกที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างอัตลักษณ์คนชายขอบ สื่อสารผ่านทั้งในแง่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และเศรษฐกิจ การเมืองของช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมนิราศของสุนทรภู่ทั้ง 8 เรื่อง คือ นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศภูเขาทอง, นิราศวัดเจ้าฟ้า, โคลงนิราศสุพรรณ, นิราศประธม, นิราศเมืองเพชร และรำพันพิลาป จึงเป็นสะพานเชื่อมวาทกรรมกับคนชายขอบที่เป็นมุมมองคนเมืองอย่างที่สุนทรภู่มองเห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน คือ การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การแต่งกาย วัฒนธรรม และสำเนียงภาษา เป็นสิ่งกำหนด ‘ความเป็นอื่น’ ต่างจากสังคมกระแสหลักในคนบางกอก ที่ค่อนข้างละเอียดกว่านิราศที่มีมาก่อนหน้านี้ สุนทรภู่มีความสามารถในการนำเสนอธรรมชาติที่พบเห็นอยู่เสมอมาร้อยเรียงไว้ในนิราศได้อย่างแนบเนียน ไพเราะ น่าสนใจ และได้อรรถรส โดยมีวิธีการกล่าวถึงธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ การกล่าวถึงธรรมชาติเป็นภาพกว้างโดยตรง การใช้ศิลปะการเปรียบเทียบ การชี้ลักษณะเด่นหรือลักษณะเฉพาะของพืชหรือสัตว์บางชนิดในด้านรูปร่าง เสียงร้อง พฤติกรรม ทำให้ผู้อ่านมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเรื่องนั้นมากยิ่งขึ้น บางครั้งกวีนำธรรมชาติไปเชื่อมโยงเพื่อแสดงความรู้สึกและแสงความสัมพันธ์ระะหว่างกวีกับนางที่รัก บางครั้งกวีนำธรรมชาติมาใช้เพื่อแสดงความคิดเห็น ให้คติหรือข้อคิดที่เป็นประโยชน์และสะท้อนโลกทัศน์ของกวีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การกล่าวถึงธรรมชาติในวรรณกรรมนิราศของสุนทรภู่นี้ยังเป็นส่วนที่กวีได้แสดงความสามารถทางวรรณศิลป์ให้เป็นที่ประจักษ์อีกด้วย
สุนทรภู่เป็นเลิศในการแต่งกลอนสุภาพ (กลอนตลาด) โดยจะขึ้นต้นแบบกลอนเพลงด้วยวรรครับและ ลงท้ายด้วย เอย มีคำสัมผัสที่เป็นระบบระเบียบปรากฏอยู่ในทุกวรรค เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลงานของสุนทรภู่เป็นที่จดจำของผู้อ่านวรรณคดี ทั้งยังเข้าถึงใจประชาชนธรรมดาได้มาก สามารถอ่าน ตีความและถอดความได้ง่าย เหตุนี้จึงทำให้สุนทรภู่กลายเป็นบุคคลที่มีผู้ชื่นชอบทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้านทั่วไปอย่างกว้างขวาง
สุนทรภู่ยังมีแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก เห็นได้จากเรื่องพระอภัยมณีที่ระบุว่าพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณพูดได้หลายภาษา และสุนทรภู่ยังมีความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ โดยสมมุติเกาะต่างๆ รอบทะเลอันดามันมาใส่ในเรื่องพระอภัยมณี เช่น เมืองลังกาคือศรีลังกา ทั้งยังนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไปแปลงแต่งในเนื้อเรื่องด้วย เช่น ตอนนางละเวงวัณฬาส่งกองทัพ 9 ทัพมาตีเมืองผลึก ก็คล้ายคลึงกับเหตุการณ์สงคราม 9 ทัพ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ตัวละครนางละเวงวัณฬาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษ เป็นต้น
นอกจากนี้สุนทรภู่ยังเป็นกวีคนแรก ๆ ที่ให้บทบาทตัวละครผู้หญิงในวรรณคดีเปลี่ยนไปจากขนบวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ คือมีความเก่งกาจและมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม สามารถเป็นเจ้าเมืองได้เหมือนตัวละครชาย แตกต่างจากตัวละครหญิงแบบเดิมที่มักโอนอ่อนตามใจตัวเอกอีกฝ่ายโดยง่ายไม่ว่าจะเรื่องความคิดการกระทำหรือการเล้าโลมก็ตาม
จากความสามารถของสุนทรภู่นี้ ทำให้ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. 2529 ครบรอบ 200 ปีชาตกาล ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม
เหตุผลที่วรรณคดีของสุนทรภู่ได้รับความนิยมมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ มาจากการสื่อความหมายให้เข้าใจได้อย่างง่าย มีประโยชน์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทำการศึกษา แม้ว่าสุนทรภู่จะไม่ใช่บุคคลที่ดีพร้อมไปเสียทุกประการ แต่สุนทรภู่ก็เป็นกวีผู้มีเสน่ห์จากตัวตนที่สะท้อนผ่านผลงานออกมาอย่างยอดเยี่ยมโดยมีแนวคิดและมุมมองแบบใหม่
อ้างอิงบทความจาก
พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร (2558). เปิดเรื่องจริง “สุนทรภู่” ที่ครูไม่เคยสอน. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2565.
จาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_189437
อารยา ธงรัตกัมพล (2564). สุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” ผู้มีเสน่ห์มากกว่าการเป็นกวี.
สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2565. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_9972
ขอขอบคุณบทความจาก
คุณครูกาญจนา สุขแก่น