“เศรษฐกิจพอเพียง” คือหลักปรัชญาทางเศรษฐกิจที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตให้แก่ประชาชนคนไทยในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และภายหลังพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำแนวความคิดนี้ถึงแนวทางในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จนสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสของโลกในยุคโลกาภิวัตน์
หลักการทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนนั้นทราบกันดีว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นประกอบไปด้วย หลักการของ “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ซึ่ง “3 ห่วง” หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน “2 เงื่อนไข” หมายถึง เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม เราจะเห็นได้ว่าแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่ใช้ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้ในเรื่องของการดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น การที่เรามีความพอดี พอมี และพอเพียง ช่วยให้เรามีความสุขไม่ต้องอยากได้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต เมื่อเรารู้จักถึงความพอจะทำให้เรารู้สึกได้ถึงความสุขที่ไม่ต้องมีเงินมากมายก็สามารถที่จะมีความสุขในชีวิตของเราได้ แนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาปรับใช้ในการเกษตรทฤษฏีใหม่โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง พอมี พอกิน พอใช้ในครัวเรือน หากมีเหลือมากก็ให้นำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยน นำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ซึ่งแนวทางนี้หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันก็จะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งกลายเป็นวิสาหกิจในชุมชนและสามารถต่อยอดในทางธุรกิจได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามหากเรารู้จักที่จะนำแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในชีวิตของเราจะช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะเรามีการวางแผนในการดำเนินชีวิต รู้จักการปรับตัวเองให้มีความพอเพียง และเพียงพอ เท่านี้ชีวิตของเราก็จะมีความสุขในการดำรงชีวิต
ขอขอบคุณบทความจาก
คุณครูศุภลักษณ์ กมล