การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เรื่อง ดอกไม้ ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 1/2 ครูผู้สอน คุณครูอรปรียา ธีวีระพันธ์

สืบเนื่องมาจากเด็กเรียนรู้สาระที่ควรเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว  เรื่องดอกไม้โดยเด็กๆได้นำภาพและของจริงของดอกไม้ชนิดต่างๆที่เด็ก ๆรู้จักมาจากบ้านเพื่อเรียนรู้ในสัปดาห์เช่นดอกกุหลาบ  ดอกชบา ดอกดาวเรือง ดอกบานชื่นและดอกทานตะวันจากนั้นได้มีการสนทนาและตอบคำถามเกี่ยวกับชื่อของดอกไม้ประโยชน์-โทษรูปร่างลักษณะและการเจริญเติบโตของดอกไม้ จากการสนทนาและตอบคำถามเด็กๆอยากรู้ว่าดอกไม้มีการเจริญเติบโตอย่างไรและโตขึ้นได้อย่างไร ครูโยงเข้าประสบการณ์การเรียนรู้โครงการโดยให้เด็กๆเลือกเรียนจากดอกไม้ที่เด็กๆนำมาและสร้างผลงานประดิษฐ์จากดอกไม้ซึ่งจัดทำสถิติความต้องการดังนี้  

          เด็กได้สนทนาและตอบคำถามเกี่ยวกับดอกไม้ของจริงกับรูปภาพ  โดยการสังเกต/สำรวจ  สืบค้น  คาดคะเน การใช้ประสบการณ์เดิมการใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์  เป็นทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory)  คือทักษะการจำหรือเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากทางบ้าน  ประสบการณ์เดิมในการเรียนรู้และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้ในกิจกรรม เช่น การสนทนาในสิ่งที่เด็กๆรู้แล้วจากประสบการณ์เดิมให้กับเพื่อน ๆ ฟังในการปลูกดอกไม้ที่บ้านของตนเอง ปลูกดอกไม้กับคุณย่าที่ต่างจังหวัดหรือนำดอกไม้ไปทำบุญที่วัดไทรใต้  อีกทั้งยังสามารถบอกชื่อของดอกไม้ที่ตนเองรู้จักให้กับเพื่อนในกลุ่มของตนเองเช่น ดอกกุหลาบ ดอกดาวเรือง  ดอกจำปี  ดอกเข็ม ดอกเฟื่องฟ้า ดอกบานชื่นเป็นต้นซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เกิดจากความจำจากประสบการณ์เดิมทั้งสิ้น  

           เด็กๆได้สืบค้นข้อมูลในคำถามที่สงสัย  อยากรู้ด้วยตนเอง  จากอินเตอร์เน็ต  สื่อการเรียนการสอนจริง  และหนังสือจากห้องสมุดของโรงเรียนเป็นทักษะการใส่ใจจดจ่อ (Focus) คือความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ  มุ่งความสนใจ  ความเอาใจใส่อยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง  ซึ่งส่งเสริมให้เด็กมีความมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมร่วมกันไม่วอกแวกกับสิ่งที่เข้ามารบกวนขณะทำกิจกรรมกลุ่มหรืองานส่วนตัว  และสามารถสร้างสรรค์ผลงานของตนเองจนสำเร็จตามเวลาที่กำหนดให้   และการประเมินตัวเอง (Self-Monitoring) คือ  การสะท้อนการกระทำของตนเองเพื่อให้รู้จักตนเอง รวมถึงการประเมินการทำงานเพื่อหาข้อบกพร่องทำให้เด็กได้ทราบถึงสมรรถนะจุดอ่อน  จุดแข็งของตนเองในขณะที่ทำกิจกรรมซึ่งจะทำให้เด็กสามารถนำไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงขณะทำงานกลุ่มหรือทำงานเดี่ยวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการทำงานร่วมกันซึ่งในระดับอนุบาลครูสามารถตั้งคำถามเชิงบวก

           ครูพาเด็กออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน และเด็กๆกลับมาทำผลงานของตนเอง โดยนำความรู้ที่ได้มาจัดตกแต่งทำโมเดลกรอบรูปดอกไม้ร่วมกันตามจินตนาการ  พร้อมกับสนทนาและตอบคำถามซึ่งเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์(Science)  และเป็นทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) คือความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม   เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจจะไม่รู้จักการรอคอย  การเรียงลำดับก่อนหลัง  การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น   ซึ่งในกิจกรรมนี้  ได้ส่งเสริมให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  รู้จักใช้เวลารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นขณะทำกิจกรรมร่วมกัน   หากเด็กที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรองจะทำให้มีปฏิกิริยาในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาได้ในขณะที่ทำกิจกรรมร่วมกัน

ประโยชน์ที่เด็กได้รับจากการจัดประสบการณ์

         เด็กได้เรียนรู้วิธีการประดิษฐ์กรอบรูปดอกไม้ รู้จักการวางแผน และได้รู้จักรูปร่างลักษณะสี และกลิ่นของดอกไม้ชนิดต่างๆ สามารถพัฒนาความรู้  ความเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และสามารถนำความรู้ที่ได้กับไปทำกรอบรูปดอกไม้ที่บ้านได้ เมื่อประดิษฐ์กรอบรูปดอกไม้เสร็จ สามารถนำไปตั้งโชว์หรือตกแต่งบ้านได้

Message us